สำนักพิมพ์ธรรมสภา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2530 มีปณิธานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามเจตนารมณ์ของ ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมเมธี (นายบรรลือ สุขธรรม ป.ธ. 8) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ก่อสร้างธรรมสภาอันเป็นธรรมสภาแห่งแรกของประเทศไทย สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 7 ทรงปิดทองลูกนิมิตเอก ในวันที่ 3 พฤศจิกายนพุทธศักราช 2492
สืบเนื่องตามกาลเวลา ในยุคก่อนปีพุทธศักราช 2530 หนังสือธรรมะที่ได้จัดพิมพ์จำหน่ายในท้องตลาดโดยทั่วไปส่วนมากมีเนื้อหาสาระและมีคุณค่าเป็นอย่างมากแต่ไม่มีผู้คนสนใจเท่าที่ควร เป็นเพราะรูปเล่มส่วนใหญ่ไม่มีความสวยงามไม่มีคุณสมบัติพอที่จะดึงดูดประชาชนให้สนใจหนังสือธรรมะทำให้ในอดีตหนังสือธรรมะไม่ได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ได้ตั้งปณิธานว่า ภายใน 10ปีจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเผยแพร่หนังสือธรรมะ ให้มีรูปแบบสวยงามน่าจับต้อง เป็นที่สนใจของประชาชนและจะทำให้หนังสือธรรมะขึ้นชั้นโชว์ตามร้านหนังสือชั้นนำ ติดอันดับ BestSeller เหมือนหนังสือชนิดอื่นทั่วๆ ไปที่วางจำหน่ายอยู่จึงได้พัฒนารูปแบบปกและรูปเล่มให้มีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี และตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2540 เป็นต้นไปจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านมาสนใจหนังสือธรรมะเพิ่มมากขึ้นธรรมสภามีความภูมิใจที่ได้นำเสนอและพัฒนาการอ่านหนังสือธรรมะของประชาชนดังที่ท่านจะเห็นได้ในปัจจุบัน
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2540 ที่ผ่านมาธรรมสภาได้ตั้งปณิธานให้หนังสือธรรมะเป็นหนังสือที่มีคุณภาพดีและราคาถูกจะพัฒนาหนังสือและสื่อธรรมะให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสือธรรมะ ทั้งสวย ทั้งดี มีคุณภาพ และราคาไม่แพง
ในปีพุทธศักราช 2550 เป็นต้นไปเป้าหมายของสำนักพิมพ์ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรมคือการเผยแผ่ธรรมะที่ส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิก อบายมุขและสิ่งเสพติดทั้งหลายเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามและการนำมาซึ่งความสุขของมนุษยชาติ
ธรรมสภาได้ตั้งปณิธานไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2560 ประชาชนชาวไทยจักมีอิสระปราศจากความงมงาย ปราศจากสิ่งเหลวไหลและจะส่งเสริมให้อบายมุขหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้แต่ขอให้ลดลงๆ เรื่อยๆ รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนมีศีล มีธรรมมีวัฒนธรรมของชาวพุทธ และมีความปีติในการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขของชีวิตและเพื่อความสุขของสังคมโดยทั่วกัน
ด้วยความสุจริตหวังดี
ธรรมสภาปรารถนาให้โลกพบกับความสงบสุข